3534 Views |
นักวิชาการชี้! “ถุงผ้าสปันบอนด์” ไม่มีงานวิจัยระบุว่าอันตราย วอนอย่าตื่นตระหนก
ถุงผ้าสปันบอนด์ – เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ว่า ถุงผ้าสปันบอนด์ ที่หลายๆคนนำมาใช้ทดแทนถุงพลาสติก ที่รัฐบาลรณรงค์ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการงดแจกถุงพลาสติกตามห้างร้านนั้น ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้นั้น จริงหรือ?
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า
ถุงสปันบอนด์ (spun-bonded) แม้ว่าจะมีเนื้อสัมผัสคล้ายผ้า จนหลายคนเรียกว่าถุงผ้า แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ได้ทำจากเส้นใยธรรมชาติ อย่างฝ้ายหรือป่าน แต่ผลิตจากพลาสติกกลุ่มโพลีพร็อพไพลีน (polypropylene)
กระบวนการผลิต “ผ้าสปันบอนด์” นั้น จะใช้การฉีดเส้นใยที่กำลังร้อน สานไปมาต่อเนื่องบนสายพาน และลำเลียงมารวมกัน แล้วพิมพ์นูนขึ้นรูป จนกระทั่งมีรูปแบบเหมือนผ้า
คุณสมบัติของผ้าที่ทำจากพลาสติกอย่างผ้าสปันบอนด์ จึงอยู่ที่มีความทนทานและเหนียวต่อแรงดึงและแรงฉีก สามารถยืดตัวได้ หดตัวได้ดี น้ำหนักเบามาก แต่รับน้ำหนักได้ดี แถมไม่ดูดซับน้ำ
ด้วยเหตุนี้ ผ้าสปันบอนด์จึงถูกเอามาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสิ่งของมากมายหลายอย่าง ถึงด้านการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ งานก่อสร้าง การเกษตร ฯลฯ รวมถึงกระเป๋าที่แจกเป็นของพรีเมี่ยมด้วย
ข้อดีของถุงผ้าสปันบอนด์ คือสามารถย่อยสลายได้ภายในเวลา 5 – 10 ปี ขณะที่ถุงพลาสติกทั่วไปอาจใช้เวลาถึง 450 ปี
มีบางคนห่วงว่า ถ้าผ้าสปันบอนด์มันย่อยสลายได้ดีขนาดนั้น จะทำให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกได้ … โดยส่วนตัวผม เคยเขียนบทความเอาไว้แล้ว อีกทั้งอย่าเพิ่งแตกตื่นหวาดกลัวไมโครพลาสติกกันขนาดนั้น เพราะยังไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่า ถุงผ้าสปันบอนด์จะสร้างอันตรายแก่สุขภาพ หรือก่อมะเร็ง อย่างที่หลายคนกลัวกัน องค์การอนามัยโลกก็บอกไว้เช่นนั้น
สรุปแล้ว ถุงสปันบอนด์ เป็นถุงที่ทำจากพลาสติก ไม่ได้ทำจากเส้นใยธรรมชาติ แต่ทำมาให้เราสามารถใช้จ่ายตลาดได้ซ้ำๆ หลายครั้ง ซึ่งนั่นคือประเด็นสำคัญที่ควรรณรงค์กันในการลดการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
ที่มา : เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant